สิ่งที่ควรรู้?
ก่อนเช่าโกดังเก็บสินค้า
การเช่าโกดังหรือคลังสินค้า เป็นทางเลือกใหม่ของนักธุรกิจและผู้ประกอบการในปัจจุบัน เพราะการเช่าสถานที่เหล่านี้ตอบโจทย์มากกว่าทั้งเรื่องความประหยัด ความคล่องตัว และความสะดวกสบาย แต่หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการเช่าโรงงานไปจนถึงโกดังและคลังสินค้าก็คือ การทำสัญญา
ก่อนทำสัญญาเช่าโรงงาน โกดังและคลังสินค้า จะมีข้อควรรู้ ควรระมัดระวัง หรือมีอะไรที่ผู้ประกอบการควรทราบก่อนเซ็นสัญญาเช่าหรือไม่ เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมก่อนทำการเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าได้มั่นใจยิ่งขึ้น
1. อ่านสัญญาเช่าอย่างละเอียดทุกหน้า
ก่อนเซ็นสัญญาใด ๆ เราต้องทำการอ่านรายละเอียดสัญญาฉบับนั้นก่อนเสมอ การเซ็นสัญญาเช่าโรงงานเองก็เช่นกันค่ะ ผู้ประกอบการหรือผู้ต้องการเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าควรอ่านรายละเอียดในสัญญาและทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาสัญญาเช่า ซึ่งสัญญาเช่าโดยปกติแล้วจะมีอายุ 3 ปี ส่วนสัญญาเช่าใดๆ ที่มีอายุเกินกว่า 3 ปี จำเป็นต้องจดทะเบียนไว้กับกรมที่ดิน นอกจากนี้อย่าลืมส่วนของราคาค่าเช่าต่อเดือน จำนวนค่ามัดจำและค่าเช่าล่วงหน้าที่ต้องจ่ายในการเซ็นสัญญาเช่า (นอกจากนี้หากสัญญาเช่าที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษก็ควรมีสัญญาเช่าภาษาไทยที่แปลมาอย่างถูกต้อง และความหมายตรงกันแนบมาด้วยเสมอ เนื่องจากการติดต่อกับทางราชการไทยนั้นยังต้องใช้สัญญาเช่าที่มีฉบับแปลภาษาไทยมาด้วยอยู่นั่นเอง)
2. ภาษีที่เกี่ยวข้องและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายในการเช่าโรงงาน โกดังหรือคลังสินค้านั้นตามปกติแล้วผู้เช่าต้องทำการหัก ณ ที่จ่าย 5% ของค่าเช่า และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งโรงงานและโกดังคลังสินค้าจะจัดอยู่ในประเภทที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย มีอัตราการเสียภาษีตามมูลค่าราคาประเมินของทรัพย์สินนั้นๆค่ะ ส่วนฝ่ายใดจะเป็นผู้รับชอบภาษีส่วนนี้นั้น เป็นการตกลงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าซึ่งควรระบุไว้ในสัญญาเช่าให้ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะแตกต่างออกไปตามแต่ผู้ให้เช่าแต่ละรายจะเป็นผู้กำหนด ส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยประกันภัยทรัพย์สิน ค่าส่วนกลาง และค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
3. ตรวจสอบความเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่า
ก่อนเซ็นสัญญาเช่าโรงงานและทำการจ่ายเงินมัดจำ ผู้ต้องการจะเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าควรตรวจสอบความเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ต้องการจะเช่าว่า ผู้ที่เราทำสัญญาด้วยนั้นเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่านั้นจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยสามารถตรวจสอบได้ได้จากโฉนดที่ดิน หนังสืออนุญาตก่อสร้าง หรือสัญญาเช่าช่วงของทรัพย์ที่จะเช่า เป็นต้น โดยที่ผู้ให้เช่าควรแนบหลักฐานการเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่าไว้ท้ายสัญญาด้วย
4. ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ
ปกติแล้วสัญญาเช่าโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าควรระบุหน้าที่รับผิดชอบของผู้เช่าและผู้ให้เช่าอย่างชัดเจน ในสัญญาควรระบุว่าผู้เช่าอาคารต้องดูแลรักษาส่วนไหนและผู้ให้เช่าอาคารต้องดูแลรักษาส่วนไหน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาเช่าระบุว่าหากเกิดความเสียหายกับอาคารหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้เกิดจากความประมาทหรือความผิดพลาดของผู้เช่า ผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขในส่วนที่เสียหาย เป็นต้น
5. กฎระเบียบของโครงการ
ในกรณีที่อาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าที่ต้องการจะเช่าตั้งอยู่ในโครงการ ผู้เช่าควรศึกษากฎระเบียบของโครงการนั้น ๆ ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้วกฎระเบียบของโครงการควรระบุอยู่ในสัญญาเช่าด้วยเช่นกัน
6. ตรวจสภาพโรงงานและโกดังคลังสินค้าที่จะเช่า
ก่อนเซ็นสัญญาเช่าโรงงาน โกดัง หรือคลังสินค้า ผู้เช่าควรตรวจสภาพอาคารโรงงานและโกดังคลังสินค้าที่จะเช่า รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในอาคารสถานที่นั้นให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน หากมีส่วนไหนที่ต้องซ่อมแซมควรรีบแจ้งต่อผู้ให้เช่า อีกทั้งควรตรวจสอบจำนวนกุญแจประตูทั้งหมดของทรัพย์ที่เช่าว่าได้รับถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ควรมีรูปถ่ายสภาพอาคารทั้งภายในและภายนอก รวมถึงรายการวัสดุอุปกรณ์ในอาคารโรงงานและโกดังคลังสินค้าที่จะเช่าประกอบสัญญาเช่าเพื่อไว้อ้างอิงในอนาคตด้วย
7. ประกันภัยอาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้า
การประกันภัยในอาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับโรงงานหรือโกดังคลังสินค้าให้เช่า ทั้งการประกันภัยในส่วนของอาคารและการประกันภัยสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์และสินค้าต่าง ๆ ของผู้เช่า ในสัญญาเช่าควรระบุให้ชัดเจนว่าหน้าที่ในการทำประกันภัยของทั้งสองส่วนนี้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบทำประกัน เพื่อเป็นการป้องกันเหตุไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดได้ในอนาคต
8. ติดอากรแสตมป์ในสัญญาเช่า
สัญญาเช่าโรงงาน สัญญาเช่าโกดัง สัญญาเช่าคลังสินค้า
การติดอากรแสตมป์ในสัญญาเช่าอาคารโรงงานหรือโกดังคลังสินค้านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาคารมักจะละเลย เนื่องจากหากสัญญาที่ไม่ได้ติดอาการแสตมป์จะใช้เป็นหลักฐานทางคดีไม่ได้ ดังนั้นในสัญญาเช่าควรระบุให้ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์ โดยมีอัตราอยู่ที่ 1 บาท ต่อ 1000 บาทของค่าเช่า ตลอดอายุสัญญาเช่า และต้องดำเนินการติดอากรแสตมป์ภายใน 15 วันนับตั้งแต่ทำสัญญาเช่าเพื่อป้องกันการเสียค่าปรับหากติดอากรแสตมป์ล่าช้า
***ก่อนเซ็นสัญญาเช่าโรงงานหรือเช่าคลังสินค้า ผู้เช่าควรอ่านรายละเอียดข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาให้ถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาขั้นต่ำในการเช่า ราคาค่าเช่า จำนวนเงินค่ามัดจำ กฎระเบียบต่าง ๆ ของโครงการให้เช่าโรงงานและคลังสินค้า รวมไปถึงการดูแลรักษาอาคารโรงงานและโกดังคลังสินค้าในกรณีที่ต้องซ่อมแซมด้วย ยอมเสียเวลาสักนิดเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันทั้งของฝ่ายตัวเราเองและผู้ให้เช่าดีกว่ามีปัญหาทีหลังนะคะ นอกจากนี้หากเกิดความสงสัยในเงื่อนไขใด ๆ ควรถามผู้ให้เช่าทันที ไม่ควรปล่อยไว้จนเกิดข้อผิดพลาดในภายหลัง
ข้อดีของการ
เช่าโกดังหรือคลังสินค้า
เมื่อผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะประกอบธุรกิจหรือขยายธุรกิจ ที่ต้องใช้โรงงานหรือโกดังคลังสินค้า ปัญหาใหญ่ที่ตามมาจนเกิดเป็นคำถามที่หลายคนยังสงสัยและลังเลใจจนหาคำตอบไม่ได้ก็คือจะลงทุนสร้างเองหรือเลือกเช่าโรงงานเช่าคลังสินค้าดีกว่า?
เพราะเหตุใดเราถึงควรมองหาโรงงานให้เช่าและคลังสินค้าให้เช่า โกดังให้เช่าแทนการสร้างหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์เหล่านี้
1. ใช้ทุนน้อยกว่า (Available Capital)
ข้อดีของการเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้าอันดับแรกก็คือเรื่องของความประหยัด เพราะเงินทุนที่ใช้ในการเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้านั้นน้อยมากเมื่อเทียบการซื้อหรือการก่อสร้างคลังสินค้าหรือโรงงานขึ้นใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการอุ่นใจและหมดกังวลเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในการเริ่มธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจด้านอื่น ๆ ไปได้เลย
2. นำไปเป็นค่าให้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ (Tax Deduction)
ข้อดีของการเช่าโรงงานและเช่าคลังสินค้าที่หลายคนคิดไม่ถึงก็คือผลประโยชน์ทางภาษี เพราะเราสามารถนำใบเสร็จค่าเช่าคลังสินค้าหรือใบเสร็จค่าเช่าโรงงานไปเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษี เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกทางหนึ่งค่ะ
3. ประหยัดค่าซ่อมบำรุง (No Repairs and Maintenance Costs)
เมื่อตัดสินใจเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้า ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องมาปวดหัวเมื่อมีอะไรเสียหายและไม่ต้องดึงเงินในบัญชีมาใช้เป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าบำรุงรักษา แถมยังไม่ต้องเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินมาปวดหัวกับการหาช่างซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้หรือซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ที่เสียหายอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสัญญาในการให้เช่าโรงงานคลังสินค้าของแต่ละที่ด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นใครที่อยากเตรียมพร้อมเรื่องการซ่อมแซมเอาไว้ก่อนก็อย่าลืมอ่านสัญญาตรงจุดนี้ให้ละเอียดกันด้วย
4. มีเวลาให้ธุรกิจและตัวเองมากขึ้น (More Time)
แน่นอนว่าการทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ผู้ประกอบการแทบจะต้องสละเวลาทั้งหมดของตัวเองมาลงแรงให้กับกิจการนั้น ๆ ซึ่งการที่จะต้องมาแบ่งเวลาอันแสนมีค่าเพื่อมาดูการก่อสร้างโรงงานหรือคลังสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบก่อสร้าง การหาผู้รับเหมา การติดตามงานก่อสร้างและต้องคอยหาช่างมาซ่อมแซมอาคารเป็นต้น คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก จะเป็นการดีกว่าไหมถ้ามีผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบก่อสร้างและคอยดูแลอาคารโรงงานคลังสินค้าให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ดังนั้นการเช่าโรงงาน เช่าคลังสินค้าหรือโกดังจึงช่วยประหยัดเวลาที่มีค่าของท่านผู้ประกอบการได้มากกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาโฟกัสเรื่องธุรกิจและยังช่วยให้มีเวลาสำหรับพักผ่อน ทำงานอดิเรก หรือใช้เวลากับครอบครัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการก่อสร้างโรงงาน โกดัง และคลังสินค้า
5. ง่ายและรวดเร็วในการโยกย้าย (Faster and Easier to Move)
หากวันหนึ่งเมื่อธุรกิจของท่านผู้ประกอบการเติบโตขึ้น และพบว่าคลังสินค้าหรือโรงงานของท่านผู้ประกอบการนั้นเล็กเกินกว่าที่จะรองรับการผลิตและจัดเก็บได้ หรือสถานที่ตั้งของโกดังนั้นเริ่มไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งของให้ลูกค้า การเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้านั้นสามารถทำให้ผู้ประกอบการตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดีกว่า ยืดหยุ่นกว่า ไม่ว่าจะเป็นการย้ายสถานที่ตั้งหรือการขยายโรงงานและคลังสินค้าก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณที่อาจบานปลายจากการขยายโรงงานหรือโกดังคลังสินค้า
6. มีทางเลือกที่มากกว่า (More Options)
ปัจจุบันมีโกดังโกดังคลังสินค้าให้เช่าและโรงงานให้เช่า ที่สร้างมาเพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ตั้ง ขนาดอาคาร ประเภทอาคาร รูปแบบและราคา เป็นต้น ผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบแต่ละตัวเลือกและเลือกคลังสินค้าและโรงงานที่ตอบโจทย์การใช้งานที่สุดได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นอีกข้อดีของการเช่าโรงงาน โกดัง และคลังสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ตรงจุด
7. ใช้เวลาน้อยกว่าในการเริ่มต้นธุรกิจ (Less Start-Up Time)
การสร้างโรงงานหรือคลังสินค้าโกดังแต่ละหลังอย่างน้อยต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเริ่มเข้าใช้งานได้ หากเป็นการเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้า แค่เพียงเปิด Google เพื่อค้นหาดูว่าที่ไหนบ้างที่มีโรงงานให้เช่าหรือโกดังให้เช่าคลังสินค้าให้เช่าที่เหมาะสม เป็นการประหยัดเวลาและยังสะดวกสบายกว่าเพราะทุกอย่างได้ก่อสร้างพร้อมไว้หมดแล้ว ผู้ประกอบการสามารถเริ่มประกอบธุรกิจหรือขยายธุรกิจได้อย่างทันทีโดยไม่ต้องรอ ทำให้ไม่พลาดโอกาสสำคัญทางธุรกิจ เพราะบางครั้งในโลกของการแข่งขัน เวลาหรือโอกาสก็ไม่รอเรา
8. ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเอกสาร (Less Paper Works)
เพราะการที่จะก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาได้นั้นมีงานเอกสารที่ต้องจัดการมากมาย เช่น การทำแบบก่อสร้าง ทำสัญญาก่อสร้าง การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การทำเรื่องจดทะเบียนขอเลขที่บ้าน ทำเรื่องขอติดตั้งประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้ามีคนทำเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับท่านผู้ประกอบการแบบครบวงจร เพียงท่านตกลงเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้า ท่านก็สามารถเริ่มประกอบธุรกิจหรือขยายธุรกิจของคุณได้เลยโดยไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องเอกสารอีกต่อไป
และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจึงควรเช่าโรงงาน เช่าโกดังหรือเช่าคลังสินค้า เพราะอย่างที่เราได้กล่าวไว้ว่าการเช่าสถานที่เหล่านี้ช่วยให้เราประหยัดทั้งเงินทุนและประหยัดเวลา อีกทั้งยังมีความสะดวกมากกว่า ตอบโจทย์คนฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และการเช่าโรงงานยังเหมาะกับการทำธุรกิจในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
ภาษีที่เกี่ยวข้อง!
กับการเช่าโกดัง
4 ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้า
ปัจจุบันผู้ประกอบการและนักธุรกิจหลายท่านหันมาเลือกใช้การเช่าโรงงานและโกดังคลังสินค้าเป็นหลักเนื่องจากมีข้อดีหลายอย่างที่ทำให้การทำธุรกิจยืดหยุ่นกว่า ซึ่งค่าเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้านั้นก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ แต่ถึงอย่างไรก็มีภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้าตามมาด้วย
ภาษีตัวใหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้า ภาษีแต่ละประเภทที่เกี่ยวข้องมีอัตราเท่าไหร่ รวมถึงมีวิธีคิดภาษีอย่างไรบ้างฃ
4 ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้าเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้า ภาษี
1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่บริษัทหรือผู้ประกอบการที่เช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้าต้องต้องดำเนินการ หัก ณ ที่จ่าย และทำหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงิน (หรือผู้ให้เช่า) ทุกครั้ง ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าเช่าที่มีการจ่ายเงินและนำส่งภาษีภายใน 7 วันของเดือนถัดไป แต่หากเป็นค่าบริการ เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าบำรุงรักษาทรัพย์ที่เช่า จะต้องหักภาษีในอัตราร้อยละ 3 ซึ่งเป็นคนละอัตรากับค่าเช่า
ตัวอย่างเช่น
ค่าเช่า
ตัวอย่างที่ 1: บริษัท A เช่าโรงงานเพื่อใช้ในกิจการ เดือนละ 100,000 บาท
ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 100,000 x 5% = 5000 บาท นำภาษีส่งกรมสรรพากรและออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า
ดังนั้นค่าเช่าที่ต้องจ่ายผู้ให้เช่า สุทธิ 100,000 บาท 5,000 บาท เป็นเงิน 95,000 บาท
ค่าบริการ
แต่หากมีค่าบริการด้วย ค่าบริการนั้น จะต้องหักภาษีในอัตราร้อยละ 3 ซึ่งเป็นคนละอัตรากับค่าเช่าค่ะ และค่าบริการนั้น ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ที่อัตราร้อยละ 7
ตัวอย่างที่ 2: เช่น บริษัท A เช่าโรงงานเพื่อใช้ในกิจการ โดยมีค่าเช่าโรงงาน เดือนละ 100,000 บาท และ ผู้ให้เช่าคิดค่าบริการดูแลส่วนกลางอีกเดือนละ 10,000 บาท
ส่วนของค่าเช่าโรงงานนั้นจะคิดตามตัวอย่างที่ 1
ส่วนของค่าบริการ จะมีวิธีคิดดังนี้
ค่าบริการดูแลส่วนกลาง เดือนละ 10,000 บาท
ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 10,000 x 3% = 300 บาท นำภาษีส่งกรมสรรพากรและออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า
ต้องบวก ภาษี มูลค่าเพิ่ม 10,000 x 7% = 700 บาท
ค่าบริการที่ต้องจ่ายผู้ให้เช่า สุทธิ 10,000 บาท 300 บาท + 700 บวก เป็นเงิน 10,400 บาท
ดังนั้นค่าเช่าและค่าบริการ ที่ผู้เช่าจะต้องจ่ายให้ผู้ให้เช่าเป็นจำนวนเงินทั้งสุทธิ 95,000 บาท + 10,400 บาท เป็นเงิน 105,400 บาทค่ะ
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าอาคาร ค่าเช่าโรงงาน และค่าเช่าโกดังคลังสินค้า จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ แต่หากมีค่าบริการอื่นนอกเหนือจากค่าเช่า เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าบริการบำรุงรักษาทรัพย์ที่เช่า หากผู้ให้เช่ามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีแล้วล่ะก็ ค่าบริการนั้นต้องถูกนำมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายค่ะ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 7 ค่ะ ส่วนวิธีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการจะเหมือนในตัวอย่างที่ 2 ตามด้านบน
3. อากรแสตมป์
ในการทำสัญญาเช่าโรงงานและเช่าโกดังคลังสินค้า สัญญาเช่าต้องมีการติดอากรแสตมป์ถึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งค่าอากรแสตมป์นั้นจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.1 ของค่าเช่าตลอดสัญญาเช่าค่ะ ส่วนฝ่ายใดจะเป็นผู้รับชอบภาษีส่วนนี้นั้น เป็นการตกลงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ทำสัญญาเช่าโรงงานเพื่อใช้ในกิจการ เดือนละ 100,000 บาท โดยทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี
ค่าเช่ารวมตลอดสัญญารวม 100,000 บาท x 12 เดือน x 3 ปี เป็นเงินค่าเช่าทั้งสิ้น 3,600,000 บาท
อากรแสตมป์นั้นจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.1 ของค่าเช่าตลอดสัญญาเช่า คิดเป็น 3,600,000 บาท x ร้อยละ 0.1 คิดเป็นค่าอากรแสตมป์ทั้งสิ้น 3,600 บาท
หากท่านอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้า สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความ 8 ข้อควรรู้ก่อนทำสัญญาเช่าโรงงานหรือเช่าโกดังคลังสินค้า คลิ๊ก!
4. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่จะเริ่มใช้งานในปี 2563 นี้ โดยอัตราภาษี 2 ปีแรก (พ.ศ.2563-2564) จะเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ด้านพาณิชยกรรม ห้าง ร้าน สำนักงาน โรงงาน โกดัง คลังสินค้า เป็นต้น ในอัตราดังนี้ ส่วนฝ่ายใดจะเป็นผู้รับชอบภาษีส่วนนี้นั้น เป็นการตกลงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3%
มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4%
มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5%
มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6%
มูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปคิดอัตราภาษี 0.7%
เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการก็ต้องหาข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อน โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บทความภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คลิก! ของเราได้เลย
ส่วนใหญ่แล้วกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มักจะมีการเรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำ ซึ่งมักจะเข้าใจผิดและถือเป็นเงินได้ของผู้ให้เช่าและผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่กรมสรรพากรมีคำสั่งออกมาว่าผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและเงินมัดจำนี้ก็ไม่ถือเป็นเงินได้ของผู้ให้เช่าด้วย
การเช่าโรงงาน โกดังและคลังสินค้าเป็นตัวเลือกใหม่ที่สะดวกกว่าและมีข้อดีหลากหลายกว่าสำหรับผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมศึกษารายละเอียดภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนะค เพื่อให้เราสามารถดำเนินการจ่ายภาษีได้ถูกต้อง ตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย